การวาดรูปสีน้ำเบื้องต้น
เทคนิคสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะช่วงแรกยังไม่สามารถกะปริมาณของสีและน้ำได้ทำให้เวลาผสมสีมักจะเข้ม เกิน หรือไม่ก็อ่อนเกินไป สีน้ำไม่นิยมทำให้สีอ่อนลงด้วยสีขาว หากใช้สีขาวเราคงจะกะความอ่อนแก่ของสีได้ง่ายขึ้น เวลาผสมสีน้ำให้มีค่าน้ำหนักที่หลากหลาย จึงเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับมือใหม่ ระหว่างผสมควรหาเศษกระดาษมาทดลองสีที่ผสมว่าได้ตามต้องการแล้ว จึงค่อยลงมือในงานจริง
ภาพที่นำมาฝึกนี้มีค่าของน้ำหนักที่หลากหลาย และค่อนข้างชัดเจนทำให้สามารถแยกแสงและเงาได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะงงๆกับกลีบดอกที่เยอะ ยังไงลองดูนะครับ
เริ่ม ร่างภาพ โดยการตั้งแกนแนวดิ่งขึ้นมาก่อนเพราะดอกที่เราจะวาดนี้เอียงเล็กน้อย หากไม่ตั้งแกนขึ้นมาเราอาจจะกะองศามากหรือน้อยไม่ถูก แกนต้องตรงนะครับ ถ้าเขียนแกนหลักไม่ตรงจะไม่ช่วยอะไรเลย
ถัดมามองภาพรวมของดอกทั้งหมดเป็นวงรี และตามด้วยกลีบสองข้างที่ยื่นออกมาและก้านของดอก(สีฟ้า) แบ่งช่วงดอกด้านใน(สีชมพู) แบ่งครึ่ง(สีน้ำเงิน) หลังจากขั้นตอนด้านบนจึงค่อยเก็บรายละเอียดด้านในของดอกทั้งหมด ทำไปพร้อมๆกัน
ไม่เขียนทีละกลีบ เพราะมีโอกาสพลาดมากและต้องลบบ่อยมาก
วิธีร่างภาพแบบนี้เป็นเพียงแค่หลักในมุมมองของผมเท่านั้น สามารถพลิกแพลงได้หลากหลายวิธีอยู่ที่การฝึกและทดลองทำจนเกิดเทคนิคเฉพาะของแต่ละคน
เริ่มลงสีครับ ภาพนี้จะใช้วิธีเปียกบนแห้ง คือรอให้สีที่ลงแต่ละชั้นแห้งก่อน แล้วจึงผสมสีให้เข้มขึ้นลงทับชั้นต่อไปเรื่อยๆใช้สีแดง ผสมน้ำให้อ่อนเป็นสีชั้นแรก
ผสมสีเพิ่มเพื่อลงในชั้นต่อไป ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ กะปริมาณสีและน้ำให้ดี
เพิ่มความเข้มของสี ลงทับชั้นต่อไป ข้อควรระวัง อย่าลงสีในลักษณะกดและย้ำภู่กัน ถูไปมาจะทำให้กระดาษช้ำจนงานเสีย สีเขียวที่ก้านผมผสมเหลืองไปนิดหน่อย และบวกแดงอีกนิด
เพิ่มความเข้มชั้นต่อไป ระหว่างนี้อาจจะมีบางส่วนเป็นรอยด่างบ้าง ถ้าเกิดขึ้นมาแล้ว อย่าไปใส่ใจมันมากควบคุมภาพรวมของงานสำคัญกว่า ส่วนใหญ่มักไม่ยอม เห็นแล้วรู้สึกขัดใจ เลยเอาพู่กันไปเกลี่ยไปถู ยิ่งเละกว่าเดิมนะครับ เพิ่มน้ำหนักเขียวเข้มในงานโดยใช้เขียวผสมแดง เป็นส่วนของเงา
เก็บงานรอบสุดท้ายครับ ซึ่งแต่ละคนอาจแบ่งชั้นของน้ำหนักมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ไม่มีผิดหรือถูก อยู่ที่ว่าเราสามารถสื่อออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้ว่าเรากำลังวาดอะไร
ภาพสุดท้ายเป็นอีกรูปหนึ่งที่ผมลองเขียนแบบเก็บรายละเอียดดู ให้เห็นว่าเขียนแบบอื่นๆเป็นอย่างไร