-บทความดีๆ “ศิลปะเด็ก : ดอกไม้ในกำมือของผู้ใหญ่”
บทความนี้ได้มาจากสูจิบัตรงานศิลปกรรรมเด็ก ปีนี้เอง เห็นว่ามีประโยชน์ เป็นแง่มุมของผู้เฝ้ามองศิลปะเด็ก และเป็นอาจารย์ศิลปะ ทัศนะของท่านจึงน่ารับฟัง บทความจาก รองศาตราจารย์เลิศ อานันทนะ ขออนุญาตอาจารย์ นำมาเผยแพร่มา ณ ที่นี้ด้วย
ศิลปะเด็ก :ดอกไม้ในกำมือของผู้ใหญ่
“อย่าเด็ดดอกไม้เก็บเอาไปปักไว้ในแจกัน
เพื่อหวังเชยชมเป็นของตัวเองคนเดียว”
รองศาตราจารย์เลิศ อานันทนะ
1
ศิลปะทำให้โลกนี้สวยงามสดใส
ชีวิตของเด็กๆ เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความคิด จินตนาการ เต็มไปด้วยสีสันสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกของเด็กที่ ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง
งานศิลปะของเด็กเป็นความงามที่สะอาด บริสุทธ์ น่ารัก ประดุจดังของขวัญอันล้ำค่าที่พระเจ้าได้โปรดประทานลงมาจากฟากฟ้า ร่วงหล่นลงสู่พื้นดินกลายเป็นมวลดอกไม้นานาพันธุ์ สู่ในใจคนเพื่อปลอบประโลมให้ชีวิตเบิกบาน เปี่ยมล้นด้วยความสุขสดชื่นอยู่ในใจของแต่ละคนสุดที่ใจเขาจะพึงปรารถนา
บทบาทของศิลปะไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา เพศและวัย ไม่กำหนดว่าจะต้องมีการศึกษาสูงส่งหรือต่ำต้อย มีฐานะร่ำรวยหรือว่ายากไร้ ศิลปะเป็นสมบัติของคนทุกคนเหมือนดังดอกไม้ที่ใครๆก็มีสิทธฺจะมองชื่นชมยินดี อย่างเท่าเทียมกัน
ที่สำคัญ พึงระลึกไว้เสมอว่ามวลดอกไม้เหล่านั้นย่อมเป็นของคนทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ ผู้ใหญ่พึงระวังอย่ายื่นมือออกไปเก็บดอกไม้เก็บเอาไปปักในแจกันเพื่อเชยชม เป็นของตัวเองคนเดียว
2
ดอกไม้ในกำมือของผู้ใหญ่
บรรดาเจ้าของดอกไม้ ย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี บางคนก็เห็นแก่ตัว ละโมภ คิดแต่จะแสวงหาผลประโยชน์จากดอกไม้นั้น เหมือนครูศิลปะบางคนที่มุ่งหวังรางวัลเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะพัฒนาความคิดจินตนาการและศิลปะนิสัยที่ดีให้แก่เด็ก เพราะพฤติกรรมของครูศิลปะบางคนมักจะแต่งกายสกปรก ไม่สุภาพเรีบยร้อย ชอบไว้หนวดไว้เคราปล่อยผมยาวรกรุงรัง ผิดวิสัยของความเป็นครู ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีของเด็กๆ กลับมุ่งยัดเยียดด้านเทคนิคและความคิดของครูใส่ลงไปในลงานศิลปะ โดยยืมมือของเด็กเขียนภาพส่งไปประกวดชิงรางวัลเพื่อเอาเปรียบเด็ก จากโรงเรียนอื่นๆ ส่วนโรงเรียนที่สอนดีๆ ตามอุดมการณ์ทางศิลปะจึงมักจะไม่ได้รางวัล เพราะมีจุดอ่อนทำงานศิลปะด้วยความบริสุทธิ์ แต่ขาดประสบการณ์ในการประกวดแข่งขัน ผลงานขาดความโดดเด่น ไสดุดตาเป็นที่น่าสนใจของกรรมการ ส่วนมากเด็กจะส่งไปตามลำพัง สังเกตเห็นได้จากลักษณะของผลงานที่ไม่มีผู้ใหญ่ช่วย ชเน ไม่มีการ์ดรองภาพ เขียนรายละเอียดข้อมูลไม่ครบถ้วน เด็กบางคนเขียนคำว่า”อายุ”ยังขาดสระอุ เพราะเป็นเด็กเล็กสุดในกลุ่มอายไม่เกิน 8 ปี ส่งไป เด็กๆประเภทนี้บางคนเป็นคนเก่งแต่ไม่มีคนช่วย ผลงานจึงมักถูกคัดออกไป ผิดจากโรงเรียนและครูศิลปะที่ได้รางวัลเป็นกอบเป็นกำจนมีชื่อเสียงรู้จักกัน ดี พวกนี้มักจะทำ”โรงเรียน”ให้เป็น”โรงงาน”เพื่อผลิตผลงานออกไปชิงรางวัลโดยมี ผู้ใหญ่คอยช่วยเหลือ เริ่มตั้งแต่การกำหนดความคิดการนำเสนอเนื้อหาเรื่องราว ลักษณะ รูปแบบ เทคนิควิธีการระบายสี แม้กระทั่งด้านหลังของผลงานก็มีผู้ใหญ่พิมพ์รายละเอียดมาให้ล่วงหน้า เด็กๆจึงมีสภาพคล้าย”หุ่นยนต์”ที่ทำท่าทางเคลื่อนไหวไปอย่างนั้นเอง จากการกดปุ่มของผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง
3
รางวัลเป็นดาบสองคม : มีทั้งคุณและโทษ
ในการประกวดแข่งขันศิลปะมักจะมีรางวัลเป็นสิ่งล่อใจ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นผู้คนส่งผลงานเข้าร่วม ดังจะเห็นได้จากวันเปิดพิธีมอบรางวัลจะมีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่ได้ รางวัลมากันมากหน้าหลายตา แต่ในวันธรรมดาหลังจากนั้น จะมีคนดูน้อยมากแทบจะไม่มีคนดูเลยจนถึงวันปิดงาน
นี่คงสะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่เห็นแก่รางวัลมากกว่าจะมองเห็นความสำคัญและคุณค่าของตัวศิลปะใช่ไหม?
โดยทั่วไปรางวัลเปรียบเหมือนเป็นดาบสองคม คือมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะมีสติปัญญารู้จักเลือกใช้ให้เกิดคุณประโยชน์หรือไม่
ส่วนที่ป็นคุณ ข้อดี คือ รางวัลเป็นตัวกระตุ้นในการสร้างแรงจูงใจ (Motivation) เป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดความตื่นตัว เพื่อชักจูงให้เกิดการร่วมงาน นอกจากนี้ รางวัลยังเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับและยกย่องในด้านฝีมือและความสามารถ โดยเฉพาะคนบางคนที่มีปมด้อยต้องการสร้างปมเด่น ตามหลักจิตวิทยาเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตัวเองยังไม่มีหรือส่วนที่ขาดๆเกินๆไป
ส่วนที่เป็นโทษ ข้อเสีย คือ ทำให้คนเห็นแก่ตัว คิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่น ถ้าชนะก็รู้สึกดีใจ แต่ถ้าแพ้จะเสียใจ ส่งผลเสียให้แก่ศิลปะโดยส่วนรวม คือ แบ่งแยกคนที่รักศิลปะออกเป็น 2 ฝ่าย มีฝ่ายชนะ ฝ่ายแพ้
คนที่ชนะก็รู้สึกอยากจะชนะไปเรื่อยๆ คนที่แพ้ก็รู้สึกอยากจะชนะบ้าง ถ้าทำไม่ได้ก็อาจจะกลายเป็นคนเกลียดศิลปะไปเลยก็ได้
เด็กบางคนที่ได้รางวัลและผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะรู้สึกภาคภูมิใจตัวเอง เมื่อได้รางวัลมาครั้งหนึ่งแล้วก็อยากจะได้อีกเป็นครั้งที่สองและสาม เคยมีเด็กบางคนที่ได้รับรางวัลคนเดียวร้อยกว่ารางวัล นับทั้งโรงเรียนเป็นจำนวนเป็นพัน รางวัลจากฝีมือของครูศิลปะที่ทำลายความคิดจินตนการ ความไร้เรียงสาที่บริสุทธ์ของเด็กเพื่อแลกกับชื่อเสียง โล่ รางวัล ใบประกาศนียบัตรเอามาติดประดับไว้ในตู้โชว์ของโรงเรียน จนกระทั่งเด็กคนหนึ่งไปเรียนต่อสถาบันศิลปะ แต่สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จ และพบกับสิ่งเลวร้ายที่สุดในชีวิต ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ เพราะคิดว่าตัวเองเก่งเหนือกว่าเพื่อนๆคนอื่น เวลาอาจารย์สั่งให้ทำงานอะไร ก็มักหลบเลี่ยง เห็นงานไม่มีความหมาย อะไรเป็นงานต่ำไม่สำคัญ เพราะเคยได้รับรางวัลระดับโลกมาแวนับไม่ถ้วน จะต้องเป็นงานที่คิดว่าสำคัญจริงๆ หรือมีรางวัลรออยู่ข้างหน้าจึงจะทำ เกิดความลุ่มหลงในตัวเอง โดยคิดว่าไม่มีใครยอมรับความยิ่งใหญ่ที่เคยได้รับรางวัลมาอย่างมากมายในอดีต จึงตัดสินใจกระโดดตึกหอพักบนชั้น 6 ลงมาตายอย่างอนาถ
นี่เป็นอุทาหรณ์สอนใจให้รู้ว่ารางวัลย่อมเป็นดาบสองคมมีทั้งคุณและโทษ ขึ้นอยู่กับผู้รับและผู้ให้พึงใช้สติปัญญาคิดใคร่ครวญให้ถี่ถ้วน อย่าหลงมัวเมา งมงายอยู่ติดกับสิ่งของที่อยู่นอกกาย อันรางวัลใดๆในโลกนั้น ล้วนสร้างขึ้นเพื่อจูงใจเป็นแรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์ เป็นผลพลอยได้เท่านั้น แต่จุดหมายที่แท้จริง คือการพัฒนาความคิดจินตนาการอันไร้ขอบเขตจำกัด (Infinity) นั่นเอง
4
อย่ามองผู้อื่นเป็นศัตรู
ปัจจุบันนี้แนวโน้มใหม่ทั่วโลกต่างได้ปรับเปลี่ยนท่าทีของการประกวดแข่งขัน กันใหม่ กล่าวคือ ไม่มองคู่แข่งขันหรือฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นศรัตรู เปลี่ยนสภาพการแข่งขันเป็นการร่วมมือ เปลี่ยนการจ้องมองคู่แข่งขันว่ากำลังทำอะไรมาเป็นการปรึกษาหารือ ปรับเปลี่ยนท่าทีความรู้สึกเป็นศัตรูมาเป็นมิตร แทนที่จะต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้
จากการเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าวนี้ ย่อมลดกระแสความรู้สึกการเป็นผู้แพ้ ผู้ชนะ เพราะได้หันมาอยู่ฝ่ายเดียวกัน คือ มีแต่ผู้ชนะ-ชนะ (WIN-WIN) เท่านั้น
5
สิ่งที่สวยงามอาจไม่ใช่ศิลปะ
มีคนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจผิดว่า สิ่งที่มองเห็นว่าสวยงามนั้น”เป็นศิลปะ” ส่วนที่มองเห็นว่าไม่สวยงามทั้งสิ่งที่แลดูน่าเกลียด น่ากลัว สิ่งที่แปลกๆไปจากธรรมดา สิ่งที่เกินจริงหรือเหนือความเป็นจริง ตลอดจนสิ่งที่ไม่เป็นจริงตามที่นัยน์ตามองเห็นนั้นๆว่า”ไม่ใช่ศิลปะ”
โดยธรรมชาติของศิลปะย่อมไม่อาจจะชี้ชัดลงไปว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่คนที่คิดว่าสิ่งสวยงามเป็นศิลปะนั้นย่อมไม่ถูกต้อง เพราะอาจเป็นความสวยงามธรรมดา ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ศิลปะก็ได้ โดยเฉพาะพวกผู้ใหญ่บางคนที่มักพูดชี้นำกำกับและบงการ สั่งให้แก้ไขงานศิลปะของเด็กแบบชนิดแก้โน่นแก้นี่ เพื่อให้ถูกใจตนเอง เมื่อเห็นเด็กวาดรูปโย้เย้ ผิดขนาดสัดส่วนต่างๆ นานา ตามมาตราฐานของตัวเอง รบกวนควารู้สึกนัยน์ตาของผู้ใหญ่ นี่คือ ยาพิษที่เจือปนมากับคำสอนที่แฝงไว้ด้วยความปรารถนาดีที่หยิบยื่นมาให้แก่ เด็ก
ผลจากการถูกกระทำดังกล่าว ภาพเขียนและผลงานศิลปะเด็กที่บริสุทธิ์จำนวนมากจึงถูกทำลายลง การแสดงออกทางความคิดจินตนาการ (Imagination) สูญสิ้นไป เหลือไว้เพียงภาพสวยๆ เทคนิคและฝีมือที่จัดจ้าน กับความคิดที่ตายด้านนิ สัยที่ชอบลอกเลียนแบบ ไร้จินตนาการ
6
การสร้างองค์ความรู้
ความสัมพันธ์เชื่อมโยง : ศาสนา วิทยาศสาตร์ ศิลปะ
ตารางเปรียบเทียบแสดงความสัมพันธ์สอดคล้องเชื่อมโยง
ที่มา”พระพุทธศาสนาและการศึกษาแผนใหม่”ศาตราจารย์ ดร.สาโรจ บัวศรี 2520
เพิ่มเติมตารางเปรียบเทียบ “วิธีสร้างสรรค์ทัศนะศิลป์” โดย รองศาตราจารย์ เลิศ อานันทนะ 2548
7
แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมศิลปะเด็ก
ยัง มีความเข้าที่สับสนเกี่ยวกับศิลปะเด็ก (Childrens Art) บางประการ อันมีผลทำให้การส่งเสริมกิจกรรมศิลปะเด็กไม่เหมาะสม สืบเนื่องมาจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือ คนทั่วไปมักเข้าใจว่ากิจกรรมศิลปะเด็ก คือ การเตรียมสร้างคนให้เติบโตขึ้นเป็นศิลปินหรือจิตรกรในอนาคต
ศิลปะเด็กหรือชื่อเรียกในระบบการศึกษาว่า ศิลปศึกษา (Art Education) หรือ ทัศนศิลป์ (Visual Art) โดยนำเอาศิลปะเป็นสื่อในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิถีชีวิตของเด็กๆใน 4 ด้าน ดังนี้
1.สติปัญญา มีความคิดจินตนาการ คิดสร้างสรรค์
2.อารมณ์จิตใจ มีสุขภาพจิตและรสนิยมที่ดี
3. ร่างกาย สุขภาพแข็งแรง ตาและมือทำงานสัมพันธ์กัน
4.สังคม สิ่งแวดล้อม รู้จักปรับตัว มีชีวิตอย่างมีความสุข
โดยมุ่งส่งเสริมให้เด็กมีการแสดงออกทางศิลปะอย่างอิสระเสรี เพื่อพัตนาความคิดจินตนาการให้เจริญสูงสุดตามศักยภาพของเด็กในแต่ละช่วงวัย ด้วยกิจกรรมศิลปะ เทคนิควิธีสอนจิตวิทยาการศึกษา สื่อการเรียน วัสดุอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับเด็ก แต่ไม่มีจุดหมายเพื่อให้เด็กทำงานศิลปะแบบผู้ใหญ่ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นหรือจบการศึกษาในระดับหนึ่งๆ อาจจะเลือกประกอบวิชาชีพต่างๆที่เหมาะสมกับตัวเองก็ได้ เช่น แพทย์ พยาบาล ครู ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น
ดังนั้น บทบาทของผู้ใหญ่ในการส่งเสริมศิลปะเด็กพึงระลึกถึงหลัก 3 ประการดังนี้
1.ส่งเสริมกำลังใจให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง
2.ไม่คาดหวังและต้องการได้รางวัลหรือสิ่งตอบแทนใดๆ
3.ให้มีศิลปะนิสัยที่ดีอย่างยั่งยืน
ถ้าหากสามารถทำได้ดังกล่าวนี้ ถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว และประสบความสำเร็จในการส่งเสริมกิจกรมศิลปะเด็กในระดับหนึ่งแล้ว
ที่สำคัญ คือ ผู้ใหญ่อย่าครอบงำความคิดของเด็ก ควรให้เด็กใช้ความคิดจินตนาการด้วยตัวเอง
ที่มา http://tongsu-tuping.blogspot.com